OUR SERVICES

Semed Living Care Hospital

บริการตรวจสุขภาพ icon 02

โรงพยาบาลซีเมดลีฟวิ่งแคร์  ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพด้านอาชีวเวชศาสตร์ครบวงจรตามข้อกำหนดของกฎหมายด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อให้ระบบบริการตรวจสุขภาพเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและได้ประโยชน์สูงสุด

1

ข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปี

ปัจจุบันพบว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพเกิดขึ้นรอบตัวจากหลายปัจจัย ทั้งมลพิษจากสภาพแวดล้อมฝุ่นควัน สารเคมีปนเปื้อน ความเครียด พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม พันธุกรรม และอายุที่เพิ่มขึ้น  ล้วนเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและโรคร้าย  การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้รู้สภาวะของร่างกาย สามารถพบความผิดปกติ หรือความเสี่ยงต่อโรคร้ายได้ก่อนที่จะมีอาการ หรือรู้ก่อนถึงระยะของโรคที่ยากต่อการรักษา

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพประจำปี

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ เนื่องจากมีผลต่อความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจ

2. งดอาหารและเครื่องดื่ม

– กรณีตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8 ชั่วโมง (สามารถจิบน้ำเปล่าได้)  

– กรณีตรวจระดับไขมันในเลือด ควรงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม อย่างน้อย 12 ชั่วโมง (สามารถจิบน้ำเปล่าได้)

– ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ 

– หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง ชา กาแฟ และงดการสูบบุหรี่ ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เนื่องจากที่มีผลต่อค่าความดันโลหิต

3. เตรียมข้อมูลสุขภาพ

หากมีอาการเจ็บป่วย สัมผัสสารเคมีอันตรายมีอาการผิดปกติในร่างกายและมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ หากท่านมีผลตรวจสุขภาพหรือประวัติการรักษา ควรนำมาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ 

4. หากตั้งครรภ์ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

หากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทำการตรวจสุขภาพ เนื่องจากในบางโปรแกรมตรวจอาจมีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก การทอสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ หรือการทดสอบสมรรถภาพปอด เป็นต้น

5. สวมเสื้อผ้าที่สะดวกในการตรวจร่างกาย
ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่รัดแน่นเกินไป เช่น กรณีมีการวัดความดันหรือเจาะเลือด ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการพับแขนเสื้อกรณีเอกซเรย์ทรวงอก สุภาพสตรีควรหลีกเลี่ยงการสวมชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็กเพื่อป้องกันการบังรอยโรค

 

ขั้นตอนการตรวจสุขภาพประจำปี

 
1. การลงทะเบียน (Register)

ติดต่อจุดประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งโปรแกรมตรวจสุขภาพที่ท่านสนใจ หรือรับคำแนะนำโปรแกรมและค่าบริการตรวจสุขภาพจากเจ้าหน้าที่  แล้วลงทะเบียนตรวจสุขภาพ โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน และแจ้ง ชื่อ-นามสกุล ที่จุดลงทะเบียน

 
2
2. การชั่งน้ำหนัก-วัดส่วนสูง (Weight-Height)

ค่าน้ำหนักและส่วนสูง สามารถนำมาคำนวณ ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI หน่วยเป็น Kg/m2)เพื่อประเมินความเหมาะสมของน้ำหนักและส่วนสูงว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่รวมถึงประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและโรคต่างๆเช่นโรคความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง,โรคเบาหวาน,โรคหลอดเลือดหัวใจ,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี,โรคข้อเข่าเสื่อม,ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับหรือปัญหาในการหายใจ และโรคมะเร็งชนิดต่างๆและเป็นข้อจำกัดในการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ทำงานในที่อับอากาศหรือบนที่สูง เป็นต้น
สำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่าเกณฑ์ อาจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นควรรักษาระดับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ  5 หมู่ ปริมาณเพียงพอเหมาะสม พักผ่อนเพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย วันละ 30-50 นาที 3-5 วัน/สัปดาห์ (ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์)

3. การซักประวัติ-วัดความดันโลหิต (Blood pressure)

การวัดความดันโลหิต เป็นการประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะนำมาสู่โรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

การปฎิบัติตัวขณะวัดความดันโลหิต

  • ให้นั่งพักให้สบาย ไม่เกร็งแขนหรือพูดคุยขณะวัดความดันโลหิต
  • ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการแปลผลตรวจสุขภาพและการวินิจฉัยของแพทย์
  • ท่านที่มีอาการเหนื่อยหอบ ให้นั่งพัก 5 – 10 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต
Muscle
4. การทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ (Muscle test)

เป็นการทดสอบความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อที่ใช้กำลังในการทำงาน ประกอบด้วยการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อมือ (Grip strength muscle) สมรรถภาพกล้ามเนื้อขา (Leg strength muscle) และสมรรถภาพกล้ามเนื้อหลัง (Back strength muscle)

คำแนะนำสำหรับการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ 

  • แนะนำให้ท่านทำการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อก่อนเจาะเลือด กรณีเจาะเลือดก่อนแล้ว แนะนำให้ท่านเข้ารับการตรวจที่จุดอื่นๆ ก่อนเข้าทดสอบจุดนี้ เพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำจากการมีเลือดออกที่ชั้นใต้ผิวหนัง

ข้อห้ามสำหรับการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ 

  • ห้ามทดสอบสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยตั้งครรภ์, ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่ต้องทดสอบ เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา และกล้ามเนื้อบริเวณหลัง, ผู้ที่อยู่ในระยะหลังผ่าตัด 3 เดือน
5. การเจาะเลือด (Blood collection)

การตรวจเลือดเป็นการตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บหลายๆ โรค ไม่สามารถวินิจฉัยได้ในทันที การตรวจเลือดจะทำให้เราทราบความผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ภาวะโลหิตจางหรือธาลัสซีเมีย ระดับไขมันในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของตับ ไต และต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น

การปฎิบัติตัวขณะเจาะเลือด 

  • แนะนำให้ท่านใช้แขนข้างที่ไม่ถนัด ยื่นให้เจ้าหน้าที่เจาะเลือด
  • หลังเจาะเลือดแนะนำกดบริเวณที่เจาะเลือด 1-2 นาทีเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล ไม่ควรพับแขน หรือนวดคลึง หรือใช้แรงแขนข้างที่เจาะเลือด เพราะอาจทำให้เม็ดเลือดแดงออกมานอกเส้นเลือดบริเวณที่ถูกเจาะ ทำให้เกิดรอยช้ำได้

หากท่านใดกลัวเข็มหรือรู้สึกหน้ามืด ใจสั่น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเจาะเลือด

6. การตรวจร่างกายโดยแพทย์ (Physical examination)

การตรวจร่างกายโดยแพทย์สำหรับประเมินภาวะสุขภาพร่างกายของเราในขณะนั้น เพื่อหาภาวะผิดปกติในเบื้องต้นที่แอบแฝงอยู่ในร่างกาย หากมีอาการเจ็บป่วย สัมผัสสารเคมีอันตราย มีอาการผิดปกติในร่างกาย และมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่นๆ  ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ หากท่านมีผลตรวจสุขภาพหรือรายงานจากแพทย์ กรุณานำผลการตรวจมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์

7. การทดสอบสมรรถภาพปอด (Lung function test)

เป็นการทดสอบการทำงานของปอด โดยวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด เพื่อประเมินภาวะจำกัด การขยายตัว หรือภาวการณ์อุดกลั้นของปอด การตรวจสอบสมรรถภาพปอดจะสามารถบ่งชี้ถึงการเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่จะมีอาการเกิดขึ้น 

คำแนะนำสำหรับการทดสอบสมรรถภาพปอด

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจนอิ่มจัดก่อนตรวจ

อย่างน้อย 1 ชั่วโมง

  • ท่านที่ใช้ยาขยายหลอดลมควรหยุดใช้ยาก่อนตรวจ

ข้อห้ามสำหรับการทดสอบสมรรถภาพปอด

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยตั้งครรภ์, ผู้ที่มีอาการหน้ามืด,ผู้ที่อยู่ในระยะหลังการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง 3 เดือน,ผู้ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
  • ห้ามออกกำลังกายก่อนทำการทดสอบ
Lung function
8. การทดสอบสายตาอาชีวอนามัย (Occupational vision test)

การทดสอบนี้เป็นการวัดความสามารถในการมองประสาน 2 ตา ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ความชัดในการมอง การมองภาพ 3 มิติ การแยกสี  และลานสายตาสำหรับผู้ทำงานเกี่ยวกับการขับขี่ยานยนต์หรือวัตถุเคลื่อนไหว เพื่อประเมินความสามารถในการมองเห็นว่าสายตาเหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำอยู่หรือไม่

คำแนะนำสำหรับการทดสอบสายตาอาชีวอนามัย 

  • ให้ท่านแจ้งลักษณะการทำงานและแผนกงานของท่านเพื่อให้เจ้าหน้าที่เลือกการทดสอบที่เหมาะสมตามกลุ่มลักษณะงาน
  • ตอบคำถามเจ้าหน้าที่ ตามรูปภาพที่ท่านมองเห็นในเครื่องทดสอบ
  • โดยในวันตรวจสุขภาพ สภาพดวงตาของท่านจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น เช่น ตาเจ็บ ตาแดง หรือสายตาล้าจากการทำงาน เป็นต้น
  • หากท่านใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ในการทำงาน ควรนำมา

ทดสอบในวันตรวจสุขภาพด้วย

Occ vision
Hearing
 
9. การทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน (Screening audiometry)

การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน เป็นการตรวจสำหรับผู้สัมผัสปัจจัยเสี่ยงเสียงดังจากการทำงาน เพื่อคัดกรองผู้มีโอกาสเป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง เป็นการตรวจที่ช่วงความถี่ 500-8000 Hz  ตั้งแต่ระดับความถี่ต่ำ เช่น เสียงสนทนา จนถึงระดับความถี่สูง เช่นเสียงเครื่องจักร เป็นต้น หรือ มีการได้ยินบกพร่อง เพื่อคัดแยกผู้มีผลการได้ยินผิดปกติได้รับการตรวจวินิจฉัยรักษา โดยแพทย์เฉพาะทางต่อไป และได้รับการดูแลป้องกันเสียงดังเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเพิ่มขึ้น

คำแนะนำสำหรับการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน 

  • ก่อนทำการทดสอบ ท่านควรหลีกเลี่ยงเสียงดังก่อนตรวจอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ถ้าไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันเสียง หรือควรออกจากพื้นที่เสียงดังอย่างน้อย 15 นาทีก่อนตรวจ  
  • แจ้งปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการได้ยินให้เจ้าหน้าที่ทราบ
  • ผู้ที่มีอาการไม่สบาย เป็นหวัด มีอาการหูอื้อ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ เพราะอาการเหล่านี้อาจมีผลต่อการได้ยินของท่าน
  • สอบสวมหูฟังให้แนบสนิท เจ้าหน้าที่จะปล่อยสัญญาณเสียงที่ท่านได้ยิน และลดระดับเสียงลงเรื่อยๆ เพื่อหาระดับเสียงเบาที่สุด ที่ท่านสามารถได้ยินเสียง ให้ท่านกดปุ่มทดสอบทุกครั้งที่ได้ยินเสียง แม้ว่าเสียงนั้นจะเบามาก
10. การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)

เพื่อประเมินลักษณะทางกายภาพของ อวัยวะบริเวณทรวงอก   เช่น  ปอด ขนาดหัวใจ กระดูกสันหลัง กระบังลม และสามารถตรวจหาวัณโรคปอดระยะแรกได้

หากพบความผิดปกติ   ดังนี้

รอยฝ้าขาวที่ปอด  ควรพบแพทย์เฉพาะทาง (อายุรกรรม โรคปอด) ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

หัวใจโต  มักพบในผู้มีภาวะความดันสูง ไขมันอุดตันเส้นเลือด ทำให้หัวใจทำงานหนัก   หากโตชัดเจน ควรพบแพทย์

  เฉพาะทาง โรคหัวใจ  ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

(กรณี ผู้รับการตรวจหายใจเข้าไม่เต็มที่ทำให้กระบังลมและกระดูกซี่โครงขยายไม่เต็มที่ ทำให้หัวใจดูโตกว่าปกติได้)       

กระดูกสันหลังคด  พบได้ทุกวัย พบมากในช่วงวัยรุ่นที่กำลังเจริญเติบโต (หญิงมากกว่าชาย)   หรือวัยผู้ใหญ่ที่ร่างกายเริ่มมีการเสื่อมสภาพ  >> หากเป็นเล็กน้อย หรือไม่เจ็บปวด ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์  หากกระดูกสันหลังคดมาก  แนะนำพบแพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ

รอยโรคเก่าหรือมีจุดหินปูน  เป็นร่องรอยเดิมจากที่เคยมีการอักเสบภายใน แล้วร่างกายมีการซ่อมแซม ซึ่งหายแล้ว
  ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ

xray scaled

 

 

คำแนะนำสำหรับการเอกซเรย์ทรวงอก 

  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อที่มีส่วนประกอบของโลหะทุกชนิด หรือชุดชั้นในที่มีโครงเหล็กของสุภาพสตรี
  • นำสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อหรือบริเวณทรวงอกทุกชนิดออกให้หมด เพื่อป้องกันส่วนของโลหะไปบดบังรอยโรคได้

ข้อห้ามสำหรับการเอกซเรย์ทรวงอก

  • ห้ามเอกซเรย์ในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยตั้งครรภ์
11. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจประเมินภาวะหัวใจเบื้องต้น เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพื่อเฝ้าระวัง หรือตรวจรักษาเพิ่มเติม ซึ่งพบได้หลายภาวะ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ การนำไฟฟ้า ภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ควรตรวจในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ไขมัน ในเส้นเลือดสูง สูบบุหรี่  ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ทำงานในที่อับอากาศหรือทำงานบนที่สูง หากพบความผิดปกติควรพบแพทย์อายุรกรรมเฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

คำแนะนำสำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

  • ถอดเครื่องประดับและวัตถุที่เป็นโลหะทุกชนิดออกจากตัว และปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
  • ขณะตรวจให้นอนในท่าที่สบายแขนอยู่ข้างลำตัว และไม่เคลื่อนไหวขณะทำการตรวจ
  • งดเครื่องดื่มชูกำลัง ชา กาแฟ และงดการสูบบุหรี่ ก่อนเข้ารับการตรวจ
EKG scaled
12. การเก็บตัวอย่างปัสสาวะ (Urine Collection)

ตัวอย่างปัสสาวะใช้ในการประเมินโรคไต เบาหวาน ภาวะติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ การบาดเจ็บในท่อทางเดินปัสสาวะ  ความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ สี การมีตะกอนในปัสสาวะ ซึ่งอาจจะเป็นนิ่วหรือผลึกกรดยูริก  รวมถึงการตรวจปริมาณสารเคมีสะสมในร่างกายสำหรับผู้ที่ทำงานสัมผัสปัจจัยเสี่ยงสารเคมีอันตราย หากพบความผิดปกติอาจต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม

คำแนะนำสำหรับการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 

  • ทำความสะอาดส่วนปลายของทางเดินปัสสาวะด้วยน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง
  • ปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปเล็กน้อยก่อน แล้วจึงเก็บปัสสาวะตรงส่วนกลางให้ได้ปริมาณ 20 ml ขึ้นไป หรือ 2 ใน 3 ของกระปุก
  • นำตัวอย่างปัสสาวะส่งในจุดที่กำหนด
13. การเก็บตัวอย่างอุจจาระ (Stool Examination collection)

ตัวอย่างอุจจาระใช้ในการตรวจหาปรสิตที่อยู่ในลำไส้ หรืออวัยวะอื่นๆที่มีทางติดต่อกับลำไส้ ตัวอย่างที่จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ควรจะต้องมีวิธีการเก็บและนำส่งให้ถูกต้องจึงจะได้ผลการวิเคราะห์ที่แน่นอน และเนื่องจากการกระจายของไข่พยาธิในอุจาระ ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้นตัวอย่างของอุจาระที่จะนำมาตรวจหาพยาธิควรจะได้มาจากหลายๆ แห่งในตัวอย่างเดียวกัน และการตรวจซ้ำหลายๆ ครั้งในตัวอย่างเดิมก็ช่วยให้อัตราการพบพยาธิเพิ่มขึ้น อีกทั้งไข่พยาธิแต่ละชนิดยังเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน  การตรวจอุจาระเป็นการตรวจหน้าที่ของระบบย่อยอาหารรวมถึงการดูดซึมอาหารและโรคอื่นๆในการตรวจอุจาระแพทย์จะตรวจดังต่อไปนี้

  • ลักษณะ : ลักษณะเหลว ก้อน มีมูกหรือไม่ มีเลือดหรือไม่
  • สีของอุจาระ : สีของอุจาระนอกจากจะเกิดจากลักษณะอาหารที่เรารับประทานเข้าไปยังเกิดจากน้ำดีที่หลั่งออกมาจากถุงน้ำดีและเลือดที่ออกในทางเดินอาหาร อุจาระสีขาวอาจจะเกิดจากท่อน้ำดีอุดตัน อุจาระสีดำรวมถึงมีเลือดออกในกระเพาะ อุจาระมีเลือดสดปนหมายถึงมีเลือดตั้งแต่ลำไส้ใหญ่
  • ดูไข่พยาธิจากกล้องจุลทรรศน์
  • ตรวจหาเลือดในอุจาระ : บางครั้งเลือดที่ออกมีปริมาณน้อยไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่าจึงต้องใช้ปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อตรวจหาเลือดในอุจาระถ้าให้ผลบวกแสดงว่าตลอดทางเดินอาหารมีเลือดออกซึ่งอาจจะเกิดจาก แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งทางเดินอาหาร ริดสีดวงทวารหนัก
.png

คำแนะนำสำหรับการเก็บตัวอย่างอุจจาระ

1.นำไม้ป้ายเนื้ออุจจาระที่ถ่ายใหม่ ปริมาณเท่าปลายนิ้ว กรณีมี

มูกเลือด ควรเก็บบริเวณที่มีมูกเลือดมาตรวจ

2.นำไม้ป้ายเนื้ออุจจาระ ป้ายลงในกระปุกทึบแสงแล้วปิดฝากระปุกให้สนิท

3.นำกระปุกทึบแสงใส่ในถุงซิปให้เรียบร้อยและนำส่งตัวอย่างในจุดที่กำหนด

14. การเก็บตัวอย่างเพาะเชื้อทางเดินอาหาร (Stool culture collection)

ตัวอย่างเพาะเชื้ออุจจาระใช้ในการตรวจหาเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Vibrio cholerae (เชื้ออหิวาตกโรค), Salmonella typhi (เชื้อไทฟอยด์ ), Samonella paratyphi (เชื้อพาราไทฟอยด์), Shigella spp. (โรคบิด)  เป็นต้น

.png

คำแนะนำสำหรับการเก็บตัวอย่างเพาะเชื้อทางเดินอาหาร

  • นำไม้พันสำลีจุ่มลงในหลอดอาหารเลี้ยงเชื้อเล็กน้อย
  • นำไม้พันสำลีสวนบริเวณทวารหนักลึกเข้าไป 1-1.5 นิ้ว แล้วหมุนเบาๆ ให้สัมผัสกับเยื่อทวาร
  • นำไม้พันสำลีที่สวนทวารหนักเรียบร้อย ใส่ลงในหลอดเลี้ยงเชื้อให้ถึงก้นหลอด
  • ปิดฝาหลอดอาหารเลี้ยงเชื้อให้สนิทและนำส่งตัวอย่างในจุดที่กำหนด

หรือ 081-358-6493 (คุณอ้น), 086-368-5317 (คุณไอซ์)

อีเมล : info@semed.co.th

Line : @semed

Facebook : SEMed living care hospital