บริการตรวจการทำงานหัวใจ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

Electrocardiogram: EKG

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrocardiogram (EKG) คือ การตรวจวัดคลื่นหัวใจ ด้วยการจับคลื่นไฟฟ้าที่หัวใจปล่อยออกมาขณะเต้น โดยแพทย์หรือพยาบาลจะติดจุดรับกระแสไฟฟ้าตามตำแหน่งต่างๆ ของคนไข้ ซึ่งเมื่อกระแสไฟฟ้ามีการรับ-ส่งเกิดขึ้น ก็จะถูกเครื่องแปลงสัญญาณ และแสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจออกมาในรูปแบบเส้นกราฟ

ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจหลายประการ ได้แก่ จังหวะการเต้นของหัวใจ ความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ และการนำไฟฟ้า เพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติหรือโรคที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือความผิดปกติของระดับเกลือแร่บางชนิดในร่างกาย

สำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แนะนำตรวจในผู้มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือผู้ทำงานบนที่สูงและในที่อับอากาศ หากตรวจพบความผิดปกติควรพบแพทย์อายุรกรรมเฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

.png

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่ออะไร

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิตที่สูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน รวมไปถึงพฤติกรรมอย่างการสูบบุหรี่หรือดื่มสุราเป็นประจำ ดังนั้น เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงถึงโรคหัวใจต่างๆ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจึงเป็นวิธีอันดับต้นๆ ที่แพทย์เลือกใช้ เพราะเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว ไม่เจ็บ และไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ที่สำคัญคือ สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย

คลื่นหัวใจปกติเป็นยังไง

อัตราการเต้นของหัว (Resting Heart Rate) โดยทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 60 – 100 ครั้งต่อนาที หากมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นั่นหมายถึง หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย

ข้อดีของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

นอกจากจะช่วยบ่งบอกสุขภาพหัวใจโดยรวมแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจยังมีข้อดีด้านต่างๆ เช่น

  • ใช้เวลาในการตรวจไม่นาน
  • ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษก่อนตรวจ
  • สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย
  • ไม่เจ็บ ไม่เป็นอันตรายต่อคนไข้
  • ผลการวัดคลื่นหัวใจสามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้หลากหลาย
  • สามารถบ่งบอกแนวโน้มความเสี่ยง หรือภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้

ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

สำหรับขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่โรงพยาบาลซีเมด ลีฟวิ่งแคร์ มีลำดับขั้นตอนที่ง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ดังนี้

  1. แจ้งชื่อ-นามสกุลกับเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันข้อมูล
  2. ถอดเครื่องประดับหรือวัตถุที่เป็นโลหะออกจากร่างกายก่อนเข้ารับการตรวจ
  3. เข้ารับการตรวจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

คำแนะนำสำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  1. ควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถถอดหรือเปิดบริเวณหน้าอกได้ง่าย เพื่อความสะดวกในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  2. หากมีอุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจ กรุณาแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ทุกครั้ง
  3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่อาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจก่อนเข้าตรวจ
  4. ตรวจสอบให้มั่นใจว่าถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะทุกชนิดออกจากร่างกาย เช่น ต่างหู สร้อยคอ ฯลฯ
  5. ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดขณะเข้ารับการตรวจ

ศูนย์วิจัยทางการแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ไทย โรงพยาบาลซีเมดลีฟวิ่งแคร์

111 ซอยรังสิต – นครนายก 42 ถนนรังสิต – นครนายก ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 12130

E-mail: info@semed.co.th