โรคความดันโลหิตสูง นั้นเป็นโรคที่อันตรายมากโรคหนึ่ง เนื่องจากในช่วงแรกผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยมีอาการใด ๆ กว่าจะรู้ตัวก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น ๆ ตามมาเสียแล้ว ความดันโลหิตสูง นับเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบสาธารณสุขทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงจะสืบเนื่องกับอายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงสำคัญมาก
โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร ?
ความดันโลหิตสูงคือค่าความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะวัดได้ 2 ค่า ได้แก่
– ค่าความดันโลหิตตัวบน:เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว
– ค่าความดันโลหิตตัวล่าง: เป็นค่าความดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว
สำหรับภาวะความดันโลหิตสูงนั้น ค่าที่วัดได้จะมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง หรือไตวาย เป็นต้น
โรคความดันโลหิตสูงมักจะเกิดขึ้นมากในผู้สูงอายุ และถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง ต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างดี และสำหรับในเมืองไทยเราถือว่า มีผู้ป่วยโรค ความดัน โลหิตสูง เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการดูแลเรื่องของอาหารการรับประทาน หรือโภชนาการถือว่ามีส่วนสำคัญมาก ๆ เรามาลองดูกันดีกว่าว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้นควรรับประทานอาหารอย่างไร
หลักการบริโภคอาหารเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง (DASH)
คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเลสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม แร่ธาตุต่าง ๆ อย่าง โปแตสเซียมและแมกนีเซียม ที่มีผลการศึกษาถึงการลดความดันโลหิตสูงได้
แหล่งข้อมูล : มหาวิทยาลัยมหิดล
สัดส่วนการรับประทานอาหารตามหลัก DASH
ธัญพืชชนิดต่าง ๆ โดยเน้นเป็นธัญพืชไม่ขัดสี 7-8 ส่วนบริโภค (หรือประมาณ 7-8 ทัพพี)
เพื่อเพิ่มการรับประทานใยอาหารที่ช่วยการขับถ่ายและลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง
ผักและผลไม้อย่างละ 4-5 ส่วนบริโภค (หรือผักประมาณ 4-5 ทัพพี และผลไม้ 3 ส่วน)
เพิ่มการรับประทานใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้สด หลีกเลี่ยงผักและผลไม้กระป๋องหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ
เนื้อสัตว์ไขมันต่ำอย่างเนื้อปลา 2-3 ส่วนบริโภค (หรือประมาณ 4-6 ช้อนกินข้าว)
รับประทานเนื้อแดงในปริมาณเหมาะสม การตัดส่วนไขมันหรือหนังของเนื้อสัตว์และเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไขมันต่ำจะช่วยลดการบริโภคไขมัน นอกจากนี้การเพิ่มการรับประทานเนื้อปลาจะช่วยเพิ่มการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ และต้านการอักเสบ ซึ่งก็จะช่วยดูแลหลอดเลือดและบำรุงหัวใจได้อีกด้วย
น้ำมันหรือไขมัน 2-3 ส่วนบริโภค (หรือไม่เกิน 6 ช้อนชา)
การรับประทานไขมันที่มากเกินไปก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้นไขมันยังเป็นสารอาหารจำเป็นที่ช่วยให้การดูดซึมวิตามินชนิดที่ละลายน้ำ รวมถึงเป็นแหล่งของกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย
ถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ
เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เนื่องจากถั่วชนิดต่าง ๆ มีกรดไขมันชนิดที่ดีอยู่ ทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3, 6, 9 แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป แม้ว่าจะเป็นแหล่งของไขมันที่ดี แต่เนื่องจากมีพลังงานที่สูง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ควรรับประทานประมาณ 30 กรัมหรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน
สำหรับการรับประทานอาหารตามหลัก DASH นี้แนะนำให้ใช้เครื่องเทศหรือสมุนไพรต่าง ๆ ในการเสริมรสชาติอาหาร และลดการใช้เกลือหรือเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูงในการปรุงแต่งอาหาร
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้อาหารตามแบบ DASH Diet ได้รับการแนะนำจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (american heart association) ให้เป็นแนวทางในการควบคุมโรคความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่รวบรวมประมวลผลอย่างเป็นระบบ (systematic review with meta-analysis) ยืนยันผลของการรับประทานอาหารแบบ DASH Diet ในผู้เข้าร่วมกว่า 2000 คน ผู้ที่รับประทานอาหารตามแบบ DASH Diet เป็นระยะเวลา 2-24 สัปดาห์ ถึงผลการลดลงของความดันโลหิต คอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิด LDL อย่างมีนัยสำคัญ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจใน 10 ปีข้างหน้า ได้ถึงร้อยละ 13
10 อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรค ความดันโลหิตสูง ตามหลัก DASH Diet
1 . ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี รับประทาน ข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี ประมาณ 7-8 ทัพพี เพื่อเพิ่มใยอาหารในการขับถ่าย และโรคเรื้อรัง
2.เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ รับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อแดงที่ไม่ติดมันหรือไม่ติดหนังเพื่อลดการบริโภคไขมัน และเพิ่มการรับประทานเนื้อปลาเพื่อให้ได้รับโอเมก้า 3 เพื่อช่วยในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการอักเสบ และมีส่วนช่วยในการบำรุงหลอดเลือด
3.ผัก ผลไม้ สดเพิ่มการรับประทานผักและผลไม้สด 4-5 ทัพพี โดยเน้นการรับประทานผักผลไม้สด ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเป็นหลัก เพื่อเพิ่มใยอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ หลีกเลี่ยงผลไม้กระป๋องและแปรรูป
4.ไขมันดีรับประทานน้ำมันหรือไขมันในปริมาณ ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน โดยเน้นรับประทานอาหารที่เป็นไขมันดี เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณไขมันที่เพียงพอ และช่วยในการดูดซึมวิตามินชนิดละลายน้ำ
5.ถั่วและธัญพืชเน้นรับประทานธัญพืชและถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เป็นต้น เพื่อให้ได้ไขมันที่ดี แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเนื่องจากถั่วเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับประทานเกินวันละ 30 กรัม หรือวันละ 2 ช้อนโต๊ะ
6.กระเจี๊ยบแดงจากผลวิจัยพบว่ากระเจี๊ยบแดงสามารถช่วยลด โรคความดันโลหิต ได้ เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด
7.ขึ้นฉ่ายมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม ควบคุมน้ำตาล ลดไขมันและต้านการอักเสบได้
8.กระเทียม กระเทียมเป็นพืชผักสวนครัวที่ต้องมีติดครัวกันทุกบ้าน นอกจากรสเผ็ดร้อนที่ช่วยเสริมรสชาติอาหารแล้ว ในกระเทียมยังมีสารเคมีที่สำคัญก็คือ Allicin ที่ช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเลือดได้ด้วย
9.ตะไคร้เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนนิยมนำมาทำอาหาร เนื่องด้วยสรรพคุณที่หลากหลายทั้งช่วยในเรื่องการขับปัสสาวะ ขับลมและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการลดความดันโลหิตสูงได้ดีทีเดียว
10.ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรยอดฮิตที่มากด้วยสรรพคุณทางยา ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสารในฟ้าทะลายโจรนั้นฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไปด้วย
7 วิธีการรักษาโรค ความดันโลหิตสูงด้วยการปรับพฤติกรรม
การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป มีรายละเอียดดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติ
- ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ในแต่ละวันอาจจะแบ่งออกกำลังเป็นช่วงสั้น ๆ ครั้งละ 10 นาที วันละ 3 ครั้ง
- การจำกัดโซเดียมในอาหาร ควรบริโภคไม่เกิน 2300 มิลลิกรัม ต่อวัน สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีความดันและไม่มีโรคความดันโลหิตสูง
- การรับประทานอาหารตามแนวทาง DASH Diet
- การจำกัดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การหยุดบุหรี่ การเลิกบุหรี่อาจไม่มีผลต่อการลดความดันโลหิตโดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
- การลดความเครียด รวมถึงการผ่อนคลายความเครียด และลดการวิตกกังวล
อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยในเรื่องของ โรคความดันโลหิตสูง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต หมายถึง การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันไปสู่การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ และมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ร่วมกับพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตให้ได้ในระยะยาวถือเป็นหัวใจสำคัญของหารป้องกันโรคความดันโลหิตสูง และยังเป็นการรักษาพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตทุกรายไม่ว่าผู้ป่วยจะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ยาหรือไม่ก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาความดันโลหิตร่วมด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาสูงขึ้น
แหล่งข้อมูล : มหาวิทยาลัยมหิดล