เชื้อวัณโรคติดต่อโดยการแพร่กระจายผ่ายระบบทางเดินหายใจ การพูดคุย ไอ จาม โดยไม่ปิดปาก และเชื้อจะลอยไปในอากาศ ผู้ที่หายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาศติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อ อาจไม่ป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้และป้องกันเชื้อวัณโรค มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ติดเชื้อวัณโรคเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค
อาการสำคัญ
ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ หรือมีเสมหะปนเลือด
เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน
ปัจจัยสำคัญต่อการป่วยเป็นวัณโรคปอด
อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่รับการรักษา เช่น พักอาศัยบ้านเดียวกันหรือทำงานร่วมกัน
ผู้ติดเชื้อ HIV
ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับหรือโรคไต เป็นต้น
ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกันนานๆ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
การจัดลักษณะที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรือพักอาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสารเสพสารเสพติด
ทำงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยวัณโรค
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรคปอด
การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์
เป็นวิธีที่สามารถบอกได้แน่นอนว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคปอด เพราะสามารถมองเห็นเชื้อในเสมหะได้
การเอกซเรย์
การเอกซเรย์ปอดเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าป่วยเป็นวัณโรคปอด ต้องได้รับการตรวจเสมหะร่วมด้วย
การเพาะเชื้อวัณโรคในรายที่สงสัยว่าเป็นวัณโรค แต่ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ
การป้องกัน
ควรตรวจเช็คร่างกาย โดยการเอ็กซเรย์ปอด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นำเด็กแรกเกิดรับวัคซีนบีซีจีที่โรงพยาบาลทุกแห่งหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
หากมีอาการสงสัยป่วยเป็นวัณโรค ควรรีบตรวจร่างกาย
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและกินอาหารที่มีประโยชน์
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น
หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
เด็กเล็กและคนชราไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยวัณโรค
ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้าน ควรเอาใจใส่ดูแล ให้กินยาอย่างสม่ำเสมอจนครบตามมาตรฐานการรักษา