Office Syndrome กับศาสตร์การแพทย์แผนจีน
Office Syndrome คืออะไร มาทำความรู้จักกัน
เป็นโรคที่คนยุคใหม่เริ่มเป็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ จากพฤติกรรมของคนเราที่เริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งแต่ก่อนคนเรามักจะมีกิจกรรมมากกว่านี้ เช่นการเดิน เคลื่อนไหว การออกแรงทำงาน เปลี่ยนไปเป็นการทำงานหรือใช้มือถือเป็นเวลานาน ๆ ก็เลยทำให้เราใช้แต่กล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ และเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณ คอ หลัง บ่า ไหล่ แขน หรือข้อมือ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวอาจลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง หากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้อาการมีการลุกลามมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดหัวคล้ายไมเกรน หรืออาจจะเกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้ออื่น ๆ ตามมาได้ด้วย เช่น กระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ใครมีอาการประมาณนี้ อาจเกิดเป็นโรค Office Syndrome ได้
วิธีการรักษาโรค Office Syndrome
เป็นการสอดเข็มขนาดเล็กและบางเข้าไปในจุดฝังเข็มเฉพาะบนร่างกาย เป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยการฝังเข็มช่วยลดการหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ เช่น substance p , prostaglandin, cyclooxygenase-2 (COX-2) ปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดหรือชา และปรับสมดุลของฮอร์โมน เช่น endorphins การฝังเข็มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกตึง ๆ หน่วง ๆ บริเวณจุดที่ฝังเข็มได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหรือให้โคมร้อนเพื่อให้เข็มอุ่นขึ้นร่วมด้วย แล้วหลังจากนั้นก็จะทำการเอาเข็มออก
ระยะเวลา การรักษา
โดยปกติเราจะรักษาต่อเนื่อง อาทิตย์ละ หนึ่งถึงสองครั้งต่อสีปดาห์ ต่อเนื่องสิบครั้ง
การฝังเข็มรักษาโรค Office Syndrome มีข้อดี – ข้อเสีย อย่างไรบ้าง?
ข้อดี : ลดการปริมาณยาที่ใช้ เช่นยาแก้ปวด หรือคนไข้ที่เป็นโรคกระเพาะหรือโรคไต เนื่องจากรักษาด้วยการกระตุ้นกลไกของร่างกายลงไปลึกได้ถึงต้นเหตุอาการปวด ได้แม่นยำ
ข้อเสีย : อาจมีระบม หรือรอยช้ำ หลังการรักษา 2-3 วัน
การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็มรักษา Office Syndrome
- ควรทานอาหารก่อนเข้ารับการฝังเข็ม 1-2 ชม. เพราะถ้าฝังเข็มในช่วงผู้ป่วยอ่อนเพลีย หิว หรือแน่นท้องมากจะมีโอกาสเมาเข็ม เวียนหัว หน้ามืด
- ทำใจผ่อนคลาย พักผ่อน นอนหลับอย่างเพียงพอ ในคืนก่อนมารับการฝังเข็ม
- สวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ ไม่รัดแน่นเกินไป
ข้อควรระวัง
ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการฝังเข็ม เช่น
- อาการเจ็บ ช้ำ หรือมีเลือดออกในจุดที่ฝังเข็ม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือผู้ที่รับประทานยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) จะมีความเสี่ยงสูงกว่า
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือเชื้อไวรัสเอชไอวี อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการใช้เข็มที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือใช้เข็มซ้ำ
- อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะปอด อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการฝังเข็มลึกเกินไป แต่มักพบได้น้อยมากในแพทย์ที่มีประสบการณ์
- เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะในการฝังเข็มอาจมีการกระตุ้นไฟฟ้าร่วมด้วย ทำให้อาจไปแทรกการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
- เกิดผลกระทบต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะการฝังเข็มบางรูปแบบอาจไปกระตุ้นครรภ์มารดา และส่งผลต่อการคลอดบุตรได้
แต่ที่สำคัญก็ควรทำการรักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิกถูกหลักและได้รับมาตรฐานโดยแพทย์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของตัวคนไข้เอง
โดย พจ. ธีรวุฒิ ชาญศิริเจริญกุล
มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก