ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

INFLUENZATH

ลักษณะโรคการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน ลองทำความรู้จักโรคไข้หวัดใหญ่กันดีกว่า 

วิธีการติดต่อ

       เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางการหายใจ โดยเชื้อแพร่กระจายผ่านฝอยละอองในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน นอกจากนี้การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก

ระยะฟักตัว

  • ประมาณ 1-3 วัน

อาการและอาการแสดง

       อาการจะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 5-7 วัน แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม สมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ได้แก่

  1. ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

  2. เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี

  3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง

  4. ผู้ที่เป็นโรคอ้วน

  5. หญิงตั้งครรภ์ระยะที่ 2 หรือ 3 ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่สูง

การรักษา

       ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ หากสงสัยว่าป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์

การป้องกัน

       หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยขณะเจ็บป่วย และควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก

       การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 01

ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
       วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป – ผู้ใหญ่ กลุ่มเสี่ยงที่แนะนำควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
  1. เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 2 ปี
  2. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  3. ผู้สูงอายุ อายุ 65 ปีขึ้นไป
  4. ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด)
  5. ผู้พิการทางสมอง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
  6. ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคธาลัสซีเมีย (และผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  7. โรคอ้วน มีน้ำหนักเกิน 100 ก.ก. (BMI> 35 กก./ตรม.)
  8. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่
 
ควรฉีดวัคซีนเมื่อไร
       วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเริ่มมีการระบาด
       หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 4-16 เท่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันและสามารถส่งต่อให้ลูกในครรภ์ได้
 
จำนวนเข็มที่ฉีด
  1. เด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ฉีดจำนวน 1 เข็ม
  2. เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อน ในปีแรกต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม (ห่างกัน 4 สัปดาห์) และในปีต่อไป ให้ฉีดปีละ 1 เข็มทั้งกรณีที่เป็นวัคซีนสายพันธุ์เดียวกัน หรือเปลี่ยนสายพันธุ์ในวัคซีน (หากในปีแรกได้ฉีดไปเพียง 1 เข็ม ในปีถัดมาให้ฉีด 2 เข็ม จากนั้นจึงฉีดต่อปีละ 1 เข็มตามปกติ)
 
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
  1. มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง
  2. เคยแพ้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง หรือแพ้สารประกอบอื่นๆ ในวัคซีนอย่างรุนแรง
  3. กำลังมีไข้หรือกำลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน
  4. เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยเฉียบพลันมาไม่เกิน 7 วัน
  5. เพิ่งนอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน
  6. ยังมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีอาการกำเริบ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หรือยัง ควบคุมอาการของโรคไม่ได้
  7. ขณะตั้งครรภ์นี้มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง เช่น มีภาวะ Toxic goitter, Pre-eclampsia, Eclampsia หรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
 
อาการแพ้อย่างรุนแรง
       เช่น หายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ
 
แหล่งข้อมูลโดย : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาสุข

แชร์