ไข้เลือดออก  (Dengue fever)

เว็บไซต์ 06 06 scaled
           กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขเผยการพยากรณ์ตามหลักระบาดวิทยา คาดการณ์ว่าในปี 2566 ประเทศไทยจะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นตามวงรอบของปีที่จะระบาด โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มิถุนายน 2566 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน 29.47 เสียชีวิต 17 ราย และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และสตูล ตามลำดับ

           ไข้เลือดออกนั้นจัดเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ โดยมียุงลายเป็นพาหะ ลักษณะของโรคที่สำคัญคือ มีไข้สูง มีอาการเลือดออก และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อกซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงต้องมีการ ติดตาม เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดภาวะช็อก

อาการไข้เลือดออก แบ่งอาการของไข้เลือดออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะแรก

          สำหรับระยะแรกนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน โดยอาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

  2. ระยะวิกฤต

         ระยะนี้เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้

  3. ระยะฟื้นตัว

         ในระยะนี้เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน

อาการไข้เลือดออกมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

        ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาหรือต้านเชื้อไวรัสเดงกีได้โดยตรง เพราะฉะนั้นการรักษาโรคไข้เลือดออกจึงเป็นการรักษาไปตามอาการที่ผู้ป่วยเป็น โดยสามารถให้ยาลดไข้ได้ โดยใช้พาราเซตามอลร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ แต่ห้ามใช้ยาลดไข้ประเภทอื่น เช่น ยาจำพวกแอสไพริน (aspirin) หรือ (ibuprofen)

        ซึ่งการพาผู้ป่วยเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด เพราะหากได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก เมื่ออยู่ในระยะวิกฤตแพทย์ก็จะสามารถดูแลติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะช็อก

วิธีป้องกันไข้เลือดออก 

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาอาการไข้เลือดได้โดยตรง ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ดังนี้

  1. ป้องกันตัวเอง สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด นอนในห้องที่มีมุ้งหรือมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว
  2. กำจัดแหล่งพาหะ ภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย
  3. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้แนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ ซึ่งจะลดความรุนแรงและได้ผลดีกว่า
แหล่งข้อมูลโดย
  • ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • สถานีสุขภาพ – PPTV Health Station

แชร์