โรค “ต้อหิน” ภัยเงียบที่น่ากลัว

โรคต้อหิน

ต้อหิน…ภัยเงียบที่น่ากลัว

ต้อหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรที่พบได้มากที่สุด มีคนไทยมากกว่า 2 ล้านคน เป็นต้อหิน

อาการ

โดยส่วนใหญ่ในเบื้องต้นผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ จึงทำให้ไม่ทราบว่าตนเองเป็นต้อหิน

การตรวจพบได้ในระยะนี้จึงมักจะเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญ จากนั้นการมองเห็นจะเริ่มแคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอาการตามัว

ซึ่งเป็นการที่พบได้ในระยะท้ายของโรค และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

ยกเว้นในรายที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ ตามัว ตาแดง สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล

ซึ่งถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องพบจักษุแพทย์

สาเหตุ

ต้อหินเกิดจากการความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา อาจจะเกิดได้จากการสร้างน้ำที่มากขึ้น

หรือมีการขับออกของน้ำน้อยกว่าปกติ เมื่อมีน้ำขังมากขึ้นก็ทำให้ความดันตาสูงขึ้น จึงเกิดการทำลายเซลล์ในขั้วประสาทตา

โดยทั่วไปค่าความดันตาปกติจะอยู่ที่ 5-22 มิลลิเมตรปรอท หากพบความดันตาสูงกว่า 22 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีความดันตาสูง

และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อหิน

ประเภท
  1. แบ่งตามลักษณะมุมตาได้แก่ ต้อหินชนิดมุมตาปิด และ ต้อหินชนิดมุมตาเปิด
  2. แบ่งตามสาเหตุเช่น
    • “ต้อหิน” ชนิดปฐมภูมิที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน
    • “ต้อหิน” ชนิดทุติยภูมิที่มีสาเหตุจากโรคตาอื่่น ๆ เช่น เคยเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา, การอักเสบในลูกตา

ต้อกระจก เบาหวานขึ้นตา เป็นต้น

  1. แบ่งตามระยะการเกิดโรดได้แก่ ต้อหินเฉียบพลัน และ ต้อหินเรื้อรัง
การรักษา

เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากขั้วประสาทตาถูกทำลายอย่างถาวร เซลล์ที่ตายแล้วจะไม่สามารถกำเนิดใหม่ได้อีก

การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อไม่ให้ขั้วประสาทตาถูกทำลายมากขึ้น และคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้ได้นานที่สุด

โดยการรักษาจะแบ่งออกเป็น

  1. การรักษาด้วยยา

เป็นการรักษาเบื้องต้นที่ดีที่สุด เป้าหมายคือเพื่อลดความดันตาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ขั้วประสาทตาจะไม่ถูกทำลายมากขึ้น

การรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องหยอดยาให้สม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน โดยอาจจะเริ่มด้วยยาเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิด

แพทย์จะทำการติดตามผลเป็นระยะเพื่อปรับยา ดูการดำเนินโรค และดูผลข้างเคียงของยา

  1. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์

การรักษาวิธีนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของต้อหิน และระยะของโรค แบ่งออกเป็น

  • Laser peripheral iridotomy (LPI) ใช้สำหรับการรักษาต้อหินมุมปิด เพื่อป้องกันการเกิดต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน
  • Selective laser trabeculoplasty (SLT) ใช้สำหรับการรักษาต้อหินมุมเปิด โดยอาจใช้เป็นการรักษาแรกๆเพื่อลดความดันตา

หรือใช้เสริมเมื่อใช้ยาหยอดแล้วได้ผลไม่ดีนัก

  • Laser cyclophotocoagulation ใช้ในกรณีที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆแล้วไม่ได้ผล
  1. การรักษาโดยการผ่าตัด

ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมความดันตาโดยการหยอดยาหรือเลเซอร์ได้ โดยการผ่าตัดมีได้หลายวิธี เช่น

การผ่าตัดทำทางระบายน้ำภายในลูกตา (Trabeculectomy) การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำลูกตา (Glaucoma drainage device)

การนวดตา สมุนไพร และอาหารเสริม ไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ นอกจากไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว

ยังอาจจะก่อให้เกิดโทษทำให้โรคแย่ลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยต้อหินระยะสุดท้าย

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อคัดกรองต้อหินปีละครั้ง ได้แก่

  • อายุมากกว่า 40 ปี
  • มีญาติสายตรง(บิดามารดา พี่น้อง)เป็นต้อหิน และมีอายุมากกว่า 35 ปี
  • มีประวัติอุบัติเหตุที่ตา
  • ใช้สารสเตียรอยด์เป็นประจำ
  • สายตาสั้นมาก หรือสายตายาวมาก
  • เป็นเบาหวาน

ที่มา https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/glaucoma/

แชร์