ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คืออะไร ? ตรวจเพื่ออะไร บอกอะไรได้บ้าง ราคาเท่าไหร่

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ EKG ถือเป็นหนึ่งในรายการตรวจพื้นฐานที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะในการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน เนื่องจากโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย โดยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 7 หมื่นราย หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 

ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถบอกอะไรได้บ้าง เจ็บไหม และอาจมีคำถามอื่นๆ โดยในบทความนี้ โรงพยาบาลซีเมด ลีฟวิ่งแคร์จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrocardiography (EKG) คือ การตรวจวัดสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจปล่อยออกมาในแต่ละจังหวะการเต้น (การบีบและคลายตัวของหัวใจ) โดยการตรวจนี้จะใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ซึ่งจะมีการติดอิเล็กโทรด (Electrode) ที่ผิวหนังบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าและแสดงผลออกมาในรูปแบบของกราฟที่จะบ่งบอกถึงความปกติของหัวใจ

เหตุที่แพทย์ใช้วิธีนี้ในการตรวจวินิจฉัยหัวใจ เป็นเพราะการทำงานของหัวใจนั้นเกิดจากกระแสไฟฟ้าที่ควบคุมการบีบตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้น การตรวจ EKG จึงช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการทำงานของหัวใจได้อย่างละเอียด

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง

แพทย์สามารถประเมินสุขภาพหัวใจได้จากกราฟคลื่นไฟฟ้า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจึงสามารถบ่งบอกข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ตั้งแต่จังหวะการเต้นของหัวใจ โครงสร้างหรือขนาดของห้องหัวใจแต่ละห้อง ไปจนถึงความผิดปกติที่อาจแฝงอยู่ ดังนี้

1. การทำงานพื้นฐานของหัวใจ

ผลตรวจ EKG สามารถตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจ ว่าสม่ำเสมอหรือไม่ ด้วยการบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ (ปกติอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที) และการทำงานประสานกันของห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง

2. สภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ

แพทย์สามารถประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจเบื้องต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ การขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ อาการบาดเจ็บ หรือพังผืดที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ

3. ความผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรคต่างๆ

จากจังหวะ อัตราการเต้น และลักษณะการทำงานของเส้นเลือดหัวใจ แพทย์สามารถระบุถึงความผิดปกติที่อาจนำไปสู่โรค อาทิ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจโต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น อีกทั้ง แพทย์อาจแนะนำให้รับการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมในกรณีที่กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติ เพื่อการตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้น และหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยได้ทันท่วงที

หลายคนอาจมองว่าตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่ออะไร เพราะยังไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใดๆ อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คือ การตรวจสอบผลสุขภาพแบบองค์รวม และนำผลไปใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้หลากหลาย จึงสามารถบอกแนวโน้มความเสี่ยงต่อโรค หรือภาวะความผิดปกติที่คนไข้มีแต่อาจไม่รู้ตัวได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ฯลฯ ที่มักไม่แสดงอาการชัดเจน

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง

ใครบ้างที่ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG?

การตรวจคลื่นหัวใจสามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมรายการตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีคนในครอบครัวที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีอาการที่อาจบ่งบอกได้ว่าอาจเป็นโรคหัวใจ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย เป็นต้น
  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเจ็บไหม มีความเสี่ยงหรือไม่

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากเป็นเพียงการติดอิเล็กโทรดบนผิวหนังเพื่อรับสัญญาณไฟฟ้าเท่านั้น ไม่มีการสอดใส่เครื่องมือใดๆ เข้าสู่ร่างกาย อาจมีเพียงความรู้สึกเย็นเล็กน้อยจากเจลที่ใช้ในการติดอิเล็กโทรด

นอกจากนี้ คนไข้สามารถเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG ได้โดยไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำ ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษ อีกทั้งใช้เวลาในการตรวจน้อย เพียง 5 – 10 นาที จึงเป็นการตรวจที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย

ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีอะไรบ้าง

ดังที่กล่าวไปข้างต้น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที จึงมีขั้นตอนการตรวจที่ไม่ซับซ้อน ดังนี้

  1. แจ้งชื่อ-นามสกุลกับเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันข้อมูล
  2. ถอดเครื่องประดับหรือวัตถุที่เป็นโลหะออกจากร่างกายก่อนเข้ารับการตรวจ
  3. เข้ารับการตรวจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำที่คนไข้ควรปฏิบัติตาม คือ ควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถถอดหรือเปิดบริเวณหน้าอกได้ง่าย เพื่อความสะดวกในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากมีอุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจก่อนเข้าตรวจ

ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ราคาเท่าไหร่ ?

เบื้องต้น ราคาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีความแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล โดยทั่วไปมักรวมอยู่ในแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ประเภทของสถานพยาบาล (โรงพยาบาลรัฐ/เอกชน) แพ็กเกจการตรวจที่เลือกโปรโมชันในช่วงเวลานั้นๆ สิทธิการรักษาที่มี อาทิ ประกันสังคม ประกันสุขภาพ

สรุป การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการคัดกรองและเฝ้าระวังโรคหัวใจชนิดต่างๆ ทั้งยังเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่เจ็บปวด จึงเหมาะสำหรับการตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การตรวจอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

โรงพยาบาลซีเมด ลีฟวิ่งแคร์ ให้บริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจครบวงจร

โรงพยาบาลซีเมด ลีฟวิ่งแคร์ (SEMed Living Care Hospital) ผู้ให้บริการตรวจสุขภาพด้านอาชีวเวชศาสตร์ครบวงจร ให้บริการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ตั้งแต่การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน บริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และบริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่แก่สถานประกอบการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการข้อมูล เพื่อความถูกต้องรวดเร็ว สามารถส่งผลการตรวจได้ตรงตามความต้องการของผู้รับบริการ ซึ่งสามารถดูผลตรวจสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ได้ 

เราพร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการแก่สถานประกอบการ ให้หัวข้อต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านอาชีวเวชศาสตร์ ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ มอบบริการที่ใส่ใจ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าทุกท่านพึงพอใจและได้ประโยชน์สูงสุด 

ตรวจสุขภาพครั้งใด.. นึกถึง โรงพยาบาลซีเมด ลีฟวิ่งแคร์ เราไม่เคยหยุดนิ่ง เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 

โทร.: 0-2199-2111 ต่อ 161 แผนกการตลาด

หรือ 081-358-6493 (คุณอ้น), 086-368-5317 (คุณไอซ์)

อีเมล: info@semed.co.th

LINE: @semed

Facebook: SEMed living care hospital