รองช้ำ หรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

plantar fasciitis 01

ปวดฝ่าเท้าก้าวแรกหลังตื่นนอน! รองช้ำ! พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ! เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ไม่มากก็น้อยพังผืดใต้ฝ่าเท้าคืออะไร…เป็นเส้นเอ็นบางๆทอดยาวใต้ส้นเท้าตั้งแต่ส้นเท้าถึงด้านหน้าของเท้า

รองช้ำ หรือ พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ เกิดจากความเสื่อมและฝืดตึงของพังผืดใต้ฝ่าเท้า พูดง่ายๆคือตัวพังผืดขาดความยืดหยุ่น เวลาเดินลงน้ำหนักจะเกิดการฉีกขาดทีละเล็กทีละน้อยซ้ำๆ (Repetitive trauma) กันทุกวันที่น้ำหนักลงฝ่าเท้า จนทำให้ความแข็งแรงลดลง เกิดการอักเสบเกิดขึ้น

อาการ มักเจ็บส้นเท้าก้าวแรกหลังลุกจากเตียง หรือหลังการนั่งนานๆ โดยหากเดินก้าวต่อไปเรื่อยๆความเจ็บจะลดลง เจ็บสุดที่ก้าวแรก มักพบอาการปวดฝ่าเท้าด้านในร่วมด้วยได้ในแนวขอพังผืดใต้ฝ่าเท้า และสามารถพบอาการนี้ร่วมกับเอ็นร้อยหวายอักเสบได้

ความเสี่ยงใดที่ทำให้เกิดอาการรองช้ำได้ง่ายมากขึ้น

  • วัยกลางคน อายุ (40-60ปี)
  • น้ำหนักเยอะ
  • มีประวัติต้องยืนหรือเดินนานๆ
  • มีประวัติใส่รองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าพื้นแข็ง หรือไม่ใส่รองเท้าเดินในบ้าน
  • กล้ามเนื้อน่องตึง เอ็นร้อยหวายตึง อุ้งเท้าแบน
 

การรักษาเบื้องต้น

  • พบแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้คำปรึกษา หาสาเหตุ งด,หลีกเลี่ยงและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่พบ รวมทั้งแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การใส่รองเท้าเดินภายในบ้านเพื่อลดแรงกระแทกไม่ให้เท้าสัมผัสกับพื้นบ้านโดยตรง เป็นต้น
  • ใช้ยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้าไม่มีข้อห้าม
  • แนะนำการยืดเหยียดพังผืดใต้ฝ่าเท้า เอ็นร้อยหวาย และ กล้ามเนื้อน่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หายขาดอย่างยั่งยืน โดยเน้นการยืดเหยียดก่อนการเหยียบพื้นก้าวแรกทุกครั้งหลังตื่นนอนหรือการนั่งนานๆ การยืดเหยียดต้องไม่รู้สึกเจ็บ แค่รู้สึกตึงๆ
  • การใช้คลื่นกระแทก Shockwave โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นผู้รักษาให้ โดยการยิงคลื่นกระแทกไปยังบริเวณที่ปวดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย (Micro-injuries) และร่างกายของเราจะเกิดการซ่อมแซมในบริเวณนั้นๆ
  • การใช้อุปกรณ์พยุงอุ้งเท้าเพื่อลดแรงที่กระทำต่อส้นเท้า (Medial arch support)
  • การฉีดสเตียรอยด์ ปัจจุบันเป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก เนื่องจากการฉีดยาเข้าตัวเนื้อเยื่อใต้ฝ่าเท้าโดยตรงจะมีความเจ็บขณะฉีดมาก และใช้เวลานานกว่าจะหายขาด

 

close up woman doing foot massage spa

 
แหล่งข้อมูลโดย : พญ.นิภารัตน์ ไตรโลกา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

แชร์