เวียนหมุนจากโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน
เวียนหัว vs. บ้านหมุน
บ้านหมุน ความรู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมหมุน
เวียนศีรษะ ความรู้สึกมึน ๆ แต่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมหมุน
เวียนหมุนจากโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน – Benign Paroxysmal Positional Vertigo – BPPV
- เป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะจากโรคหู
- ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแบบเฉียบพลัน สัมพันธ์กับท่าทางหรือการขยับศีรษะ
- พบได้ทุกช่วงอายุ โดยพบมากขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ
- พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (2:1)
อาการของโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน
- มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแบบเฉียบพลัน โดยมักมีอาการไม่เกิน 1 นาที แต่อาจมีอาการเวียนศีรษะตามมาได้
- อาการมักสัมพันธ์กับท่าทาง เช่น ลุกจากที่นอน นอนสระผม
- การได้ยินปกติ ยกเว้นมีความผิดปกติของการได้ยินอยู่เดิม
- ไม่มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางอื่น ๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว หมดสติ
สาเหตุของโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน
- ส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบไม่มีสาเหตุ
- ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรค เช่น อุบัติเหตุศีรษะกระทบกระแทก โรคของหูบางชนิด การผ่าตัดหู
- ปัจจัยอื่น ๆ จากการศึกษาวิจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน กระดูกพรุน ภาวะขาดวิตามินดี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาโรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน
- สามารถหายได้เองในผู้ป่วยบางราย
- การกายภาพบำบัดเป็นการรักษาหลัก สามารถทำให้ดีขึ้นประมาณร้อยละ 80 ในการรักษาครั้งแรก
- ไม่มียาที่จำเพาะ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาบางชนิดเพื่อลดอาการเวียนศีรษะชั่วคราว
การพยากรณ์โรคและการปฏิบัติตัว
- สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังรักษา
- แพทย์มักนัดติดตามอาการที่ประมาณ 1 เดือน
- มีโอกาสกลับเป็นซ้ำประมาณร้อยละ 15-20 ต่อปี
- เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงยังไม่มีการป้องกัน
แหล่งข้อมูลโดย : นพ. วีรุตม์ ชโยภาสกุล (โสต ศอ นาสิกแพทย์) มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก