ฝุ่น PM2.5 ภัยเงียบ ทำลายสุขภาพ

PM2.5 คืออะไร?
       ฝุ่นละอองหรือ PM หมายถึงอนุภาคที่พบในอากาศ ได้แก่ ฝุ่น เขม่า สิ่งสกปรก ควัน และหยดของเหลวขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม เนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและเมื่อสูดดมสามารถเข้าสู่ปอดผ่านระบบทางเดินหายใจได้  ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปรบกวนอวัยวะต่างๆจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้
PM2.5 มาจากไหน?
    แหล่ง PM2.5 ที่มนุษย์สร้างขึ้นที่พบบ่อยที่สุดบางส่วน:
  1. การจราจร
  2. กระบวนการทางอุตสาหกรรม
  3. การก่อสร้างอาคาร
  4. เตาปิ้งย่างและการเผาในที่โล่ง
  5. สูบบุหรี่
    อากาศเย็นและแห้ง ความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบทำให้ PM2.5 สะสมในอากาศ  ไม่แพร่กระจาย  แขวนลอยได้นาน
 
PM2.5 ส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร?
     ผลกระทบระยะสั้น
  1. ไอ จาม
  2. ระคายเคืองผิวหนัง ผื่น คัน
  3. ระคายเคืองตา แสบตา ตาแดง
 
ผลกระทบระยะยาว
1.ระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • หัวใจวาย
  • ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ
  • ความดันโลหิตสูง
2.ระบบทางเดินหายใจ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคหอบหืด
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
3.มะเร็งปอด
4.เบาหวาน
5.เสี่ยงแท้ง/ คลอดก่อนกำหนด/ กระทบต่อพัฒนาการและสมองของทารก
 
ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ
  1. เด็กเล็ก ชอบการเคลื่อนไหว ปอดกำลังพัฒนา อัตราการหายใจเร็ว ทำให้ได้รับมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกัน
  2. ผู้สูงอายุ ระบบทางเดินหายใจเสื่อมตามวัยมีโอกาสเกิดโรคต่างๆ
  3. หญิงตั้งครรภ์ อวัยวะต่างๆของทารกในครรภ์กำลังพัฒนา อาจได้รับผลการทบจากมารดาผ่านทางรก
  4. ผู้มีโรคประจำตัว ทำให้อาการกำเริบ เช่น ผู้ป่วยภูมิแพ้มีอาการจมูกอักเสบ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเจ็บหน้าอก และอาจหัวใจล้มเหลวได้       
  5.  ผู้ทำงานกลางแจ้ง ตำรวจจราจร  พนักงานกวาดถนน พ่อค้าแม่ค้าริมถนน  วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่สัมผัส PM2.5 เป็นเวลานาน จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
 
การดูแลป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5
  1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศตามช่องทางต่างๆ
  2. สังเกตอาการ หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนหรืออาการอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
  3. ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ปิ้งย่าง เผาใบไม้เผาขยะ เป็นต้น
  4. ปิดประตูหรือหน้าต่างที่พักอาศัยให้มิดชิด เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในที่พัก
  5. เมื่อ PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลต่อกระทบสุขภาพ ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกจากบ้านหรือปฎิบัติงานกลางแจ้งควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ซักเสื้อผ้าที่สวมใส่หลังกลับถึงที่พักอาศัย
 
แหล่งข้อมูลโดย : กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

แชร์