โรคซึมเศร้า (Depression)

DepressTH
โรคซึมเศร้า บั่นทอนจิตและสุขภาพ

จากในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ จะมีการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุเกิดจากภาวะโรคซึมเศร้า (Depression) เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีปัจจัยจากภาวะแวดล้อมต่าง ๆ หรือปัญหาทางชีวภาพของ ร่างกายที่ส่งให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานไม่ปกติ  ผลิตอารมณ์และมุมมองในแง่ลบ ข่าวดี สำหรับโรคซึมเศร้านั้น เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ บุคคลรอบตัวควรเปิดใจและพยายามหาทางช่วยเหลือโดยไม่ซ้ำเติมผู้ป่วยเห็นอกเห็นใจ และไม่เอามุมมองของตนเองเข้าไปตัดสินคนไข้ ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักที่ไปที่มา ของโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการระแวดระวังและหาทางป้องกันหรือรีบรักษา

สาเหตุการเกิดของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบร่วมกัน เช่น

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม มีการพบโรคซึมเศร้าในอัตราสูงในญาติของผู้ป่วยซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หรือติดสารเสพติด
  • โรคทางกายต่าง ๆ ที่มีผลกับสมองโดยตรง เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และฮอรโมนอื่น ๆ โดยเฉพาะฮอรโมนของเพศหญิง และโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น ความพิการที่ต้องพึ่งพิง

ผู้อื่น โรคปวดเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านทานตนเอง เป็นต้น

  • ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการรบกวนสมอง หรือสารเสพติดต่าง ๆ

นอกจากนี้ยังมี ปัจจัยด้านจิตสังคมและลักษณะนิสัยพื้นฐาน เช่น ความคาดหวังสูง กดดันตนเอง มองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย มีปัญหาแล้วเก็บกดไม่ปรึกษาใคร เอาชีวิตไปขึ้นกับบุคคลอื่น เป็นต้น

ลักษณะอาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการแสดงออกในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป โดยจะมีความรู้สึกหดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่อหน่าย จิตใจไม่สดชื่นแจ่มใส ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฎให้เห็นติดต่อกันเกือบทุกวันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ในบางรายอาจมีความคิดอยากตาย หรือฆ่าตัวตายร่วมด้วย สำหรับอาการ  ที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ มีความเศร้าซึมหรือกังวล หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่ายตลอดเวลา ดูไม่มีความสุขส่วนด้านความคิด มีความคิดในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวังไร้แรงจูงใจ ส่วนด้านพฤติกรรมจะรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรงไปทำอะไร ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ ด้านร่างกาย มีอาการนอนไม่หลับ    ถ้าตื่นกลางดึกแล้วนอนหลับต่อไม่ได้ น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตบกพร่องลงเสียประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงาน รวมถึงเกิดปัญหาปฎิสัมพันธ์จากการที่เปลี่ยนไปแทบเป็นคนละคน

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยมีวิธีการรักษาหลัก ๆ 2 วิธี คือ

  • วิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยา โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแต่ละชนิดแตกต่างกันและสามารถทำร่วมกันได้ความก้าวหน้าทางการแพทย์และเภสัชกรรม ในปัจจุบันทำให้ยารักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อตับไตหรือทำให้ติดยา
  • วิธีการเข้าพบจิตแพทย์ โดยผู้ป่วยสามารถเข้าพบจิตแพทย์ด้วยตัวเอง เพื่อวิเคราะห์อาการของโรคและรับคำปรึกษา โดยคนใกล้ชิดของผู้ป่วยก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องเข้าใจและคอยให้กำลังใจผู้ป่วยโดยไม่ซ้ำเติม หรือมองว่าอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยคิดหรือสร้างขึ้นมาเองรวมถึงการ ใช้คำพูด หรือพฤติกรรมต่าง ๆ บั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วย เพราะที่จริงแล้วย่อมไม่มีใคร ไม่ปรารถนาชีวิตที่สงบสุขและเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษา ฟื้นฟูสภาพจิตใจแล้วก็จะกลับมาเชื่อมั่นมีความหวังและสามารถใช้ชีวิตดูแลตนเองได้

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

แชร์